อนาคตของอุตสาหกรรมเนื้อหมู: แนวโน้มและโอกาสที่น่าตื่นเต้น
ในปี 2025 อุตสาหกรรมปศุสัตว์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการเนื้อหมู ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยร่วมกันระหว่าง Baramizi Lab และ Zoetis บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ระดับโลก การวิจัยนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโต แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปจากเนื้อหมูอีกด้วย
1. ผู้บริโภคทานเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมเนื้อหมูจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น เนื้อหมูที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และมีสารอาหารอย่างโอเมกา 3 ตัวอย่างเช่น ไส้กรอกโอเมกา 3 จาก Wampler’s farm ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าด้วยกรดไขมันโอเมกา 3 ของ DHA และ EPA ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาของหัวใจและสมอง หรือแพลตฟอร์ม Hakko Hub ที่สนับสนุนการหมักเนื้อสัตว์ ทำให้เนื้อสัตว์ย่อยง่ายขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี และธาตุเหล็ก
2. ผู้บริโภคทานเพื่อรับประสบการณ์แปลกใหม่
รสชาติและรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค วงการอาหารจึงพัฒนาสินค้าและประสบการณ์ให้ครอบคลุมชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การนำเนื้อหมูติดมันหรือเบคอนมาผสมกับเครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มสัมผัสความละมุนลิ้น หรือผลิตภัณฑ์แฮมหมู SPAM Figgy Pudding ที่มีรสชาติเหมือนของหวานจากส่วนผสมของลูกจันทน์เทศ อบเชย ออลสไปซ์ ขิง และกานพลู ทำให้มีรสชาติคล้ายขนมพุดดิ้ง
3. ผู้บริโภคทานเพื่อเสพเรื่องราวและอัตลักษณ์
ทุกเมนูอาหารและวัตถุดิบล้วนมีเรื่องเล่า แนวโน้มนี้เกิดจากการพัฒนาของโซเชียลมีเดีย ทำให้เราได้เห็นเมนูหรือวัฒนธรรมทางอาหารจากเนื้อหมูในบริบทที่เราไม่รู้จักมากขึ้น เช่น ‘หมูน้ำค้าง’ กรรมวิธีที่หาดูยากจากชาวยูนนาน ที่กลับมาเป็นกระแสไวรัล หรือ Soft Power ของ K-Food อย่างหมูย่างเกาหลี ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมการจัดจานแบบเนื้อเป็นตัวเอก(Meat-Oriented) ซึ่งไม่ได้นำเสนอแค่มื้ออาหาร เเต่เป็นตัวแทนของภาพจำวัยทำงานตามสื่อบันเทิงต่างๆ
4. ผู้บริโภคทานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกดีขึ้น
การเลี้ยงดูที่ดีและเทคโนโลยีทางการเกษตรมีส่วนช่วยในการทำให้ฟาร์มเลี้ยงมีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ การผลิตที่ดีย่อมส่งผลต่อโลก ผู้ผลิตหลายเจ้าพยายามดำเนินงานโดยการคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในการเลี้ยงหมูต่อตัวมากขึ้น
5. ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่สร้างความมั่นใจ ปลอดภัย สะดวก และประสิทธิภาพสูง
ตั้งแต่การเลี้ยงจากฟาร์มส่งตรงถึงจาน จะถูกทำให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตรวจสอบย้อนกลับระดับ DNA หรือการตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนออกไปท่องเที่ยวจนเกิดเป็นเทรนด์ Glamping ซึ่งขาดกิจกรรมอย่างบาร์บีคิวไม่ได้ จึงเกิดเป็นบรรจุภัณฑ์พร้อมย่าง และเป็นกระแสการใช้งานมากขึ้น และอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ DNA Traceback ของ IdentiGEN ช่วยให้สามารถติดตามเนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกลับไปยังฟาร์มต้นทางได้อย่างแม่นยำ
6. ผู้บริโภคทานเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
ในอดีตการทานผักผลไม้เป็นตัวเอกของการทำให้ได้รูปร่างที่ดี แต่ในปัจจุบัน “โปรตีน” เป็นตัวเอกใหม่ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการทานโปรตีนให้ได้ปริมาณที่ต้องการ แต่ยังคงไว้ซึ่งรสชาติของความเป็นอาหาร ซึ่งเนื้อหมูมีความสามารถในการพัฒนาเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์นี้ได้อย่างดี
อีกทั้งยังมีคุณประโยชน์ด้านคอลลาเจนธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยในเรื่องผิวพรรณอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น Jelly Pork หมูเยลลี่เป็นอาหารแบบดั้งเดิมที่ปรุงกันทั่วไปในช่วงเดือนที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน การมีเจลาตินที่ได้มาจากแหล่งที่อุดมด้วยคอลลาเจน เช่น หนังหมู กระดูก และกระดูกอ่อน สามารถช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผิวหนังได้
และทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ที่ชวนให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจปศุสัตว์ ชี้ช่องให้มองผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและดึงเอาความต้องการของเค้าออกมา และเติมเต็มมันด้วยสินค้าและบริการที่เรามี