FOOD TREND: Drinks Society
เครื่องดื่มที่มีวิถีการดื่มมาช้านาน
คุณคิดว่าเป็นเครื่องดื่มอะไรกันบ้างคะ?
หลายคนกล่าวว่า “แอลกอฮอล์” เป็นสิ่งไม่ดี แต่ในทางกลับกันเราจะเห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมาอย่างช้านาน อย่างในซีรี่ย์เกาหลีย้อนยุคเราจะเห็นว่า ในฉากที่มีพระราชาก็ยังดื่มแอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่า “สาเก” และในยุคปัจจุบันคนเกาหลีก็นิยมดื่มโซจูกับอาหารหลากหลายประเภทและดื่มในงานสังสรรค์ต่างๆ อีกด้วย
ไม่แม้แต่ชาวเกาหลี ไม่ว่าจะประเทศไหนๆ ก็นิยมดื่มแอลกอฮอล์กันทั่วหน้า แม้แต่คนไทยเราในสังคมปัจจุบันที่นิยมดื่มกันมาก โดยเฉพาะหลังเลิกงานและในวันหยุดพักผ่อนที่จะเห็นตามร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ มีผู้คนมานั่งชิลทานอาหาร ฟังเพลง พร้อมสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
เนื่องด้วยคนไทยส่วนมากที่นับถือศาสนาพุทธได้รับความเชื่อในเรื่องของการถือศีล 5 นั้น ซึ่งมีข้อที่ 5 คือ การละจากอบายมุขที่รวมถึงสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เหตุนี้คนไทยจึงนิยมพูดต่อๆ กันว่า “แอลกอฮอล์เป็นสิ่งไม่ดี เป็นอบายมุข ให้โทษมากกว่าให้คุณ” เห็นได้จากโฆษณาเชิญชวน “เลิกเหล้าเข้าพรรษา” และโฆษณา “เมาไม่ขับ” ซึ่งแสดงให้เห็นแต่โทษหลังจากดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป
แอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มกัน คือ “เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือ เอทานอล (Ethanol)” ประกอบด้วยกลุ่มธาตุอะตอมของไฮโดรคาร์บอนและกลุ่มไฮดรอกซิล ซึ่งก็เป็นเหมือนสารๆ หนึ่งที่มีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้สำหรับแค่การมึนเมาเพียงอย่างเดียว
แอลกอฮอล์ถูกนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทในปัจจุบัน เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง อาหาร และใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ
ด้วยวิถีโลกที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันผู้บริโภคมีวิธีการดื่มแอลกอฮอล์ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพด้วยเช่นกัน แลดูขัดแย้งกันใช่ไหม ระหว่าง “สุขภาพ” กับ “แอลกอฮอล์” แต่ว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดื่มเพื่อโลกเราด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องหันมาใส่ใจในขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์มากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้บริโภคมีแนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ลดลง แต่เพิ่มประสบการณ์การดื่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงหันมาผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้อยลง แต่เพิ่มสัดส่วนของสารอื่นมากขึ้น คุณรู้จัก “ตันซันซูโซดา (Tan San Su)” ในเซเว่นหรือไม่? นี่เป็นตัวอย่างของการนำภาพลักษณ์ของโซจู หรือแอลกอฮอล์มาสร้างเครื่องดื่มที่ไร้แอลกอฮอล์เพื่อเอาใจวัยรุ่นและคนที่ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์อีกแบบหนึ่ง
- ผู้บริโภคสนับสนุนการดื่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากท้องถิ่น ด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากมาย ทำให้ส่งผลต่อภาษีและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น คนจึงหันมาสนับสนุนวัตถุดิบหรือสินค้าในประเทศมากกว่านอกประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม สินค้านั้นๆ ก็ต้องมีคุณภาพที่ดีด้วยเช่นกัน
- ผู้บริโภคสนับสนุนการดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือให้คุณค่าทางสุขภาพ โดยผู้ประกอบการก็ได้สร้างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใส่ความแปลกใหม่เข้าไปมากขึ้น เช่น เพิ่มส่วนผสมของกัญชา เพิ่มรสชาติชานม เช่น สาเกชานมไข่มุก การเติมกลิ่นผลไม้และใส่น้ำตาลลดลง หรือในต่างประเทศ เช่น Ouzo แอลกอฮอล์องุ่นจากกรีซที่มีส่วนผสมยี่หร่าช่วยย่อยอาหารและเจริญอาหารได้ดีขึ้น
เห็นแล้วใช่ไหมว่า การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีแค่โทษ แต่คนรุ่นใหม่ได้นำมาช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านรสชาติ การผ่อนคลาย และสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการเองก็พยายามปรับผลิตภัณฑ์ของตนให้ผู้บริโภคซื้อด้วยเช่นกัน
ด้วยคู่แข่งที่มากขึ้น แต่จะมีสักกี่เจ้าที่สามารถอยู่รอดในอุตสาหกรรมได้บ้าง ดังนั้น “ความแตกต่าง” ยังคงใช้ได้ผล
____________________________________________________________________________