ทิศทาง Food delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ
ตลาด Food Delivery ในไทยปี 2567 ยังมีเทรนด์ที่ลดลงต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการประเมินว่าในปี 2567 มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือ มีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง
ปัจจุบัน ตลาด Food Delivery ในหลายประเทศกำลังเผชิญกับแนวโน้มขาลงไม่ต่างจากประเทศไทย แม้ว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเห็นการเติบโตชะลอตัวเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริการต้องปรับราคาให้สูงขึ้นเพื่อรักษากำไร ขณะที่ในญี่ปุ่น การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการจัดส่งและการแข่งขันจากผู้เล่นหลายราย ทำให้บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและกำไร
การเติบโตของตลาด Food Delivery ทั่วโลก
รายได้ในตลาดบริการจัดส่งอาหารออนไลน์คาดว่าจะสูงถึง 1.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR 2024-2029) ที่ 9.49% ส่งผลให้มีปริมาณตลาดที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2572
ภาคบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งประเมินว่ามีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ถูกครองตลาดโดยผู้เล่นหลัก ได้แก่ DoorDash (สหรัฐอเมริกา), Zomato (อินเดีย), Grab (สิงคโปร์) และ Delivery Hero (เยอรมนี)
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดชะลอตัว
การชะลอตัวของตลาดบริการจัดส่งออนไลน์เริ่มเห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลาหลังจากโลกเข้าสู่ภาวะปกติใหม่อีกครั้ง พบว่ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนอย่างมากมาย โดยผู้คนมีแนวโน้มที่จะ :
- เปลี่ยนมารับประทานอาหารนอกบ้าน: การเดินทางไปรับอาหารที่ร้านเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและได้รับประสบการณ์ออกนอกบ้าน
- ซื้ออาหารกลับไปที่บ้านเพื่อทาน: การซื้ออาหารมาที่บ้านเพื่อให้มีความสะดวกและประหยัด
- ประกอบอาหารเองที่บ้าน: การทำอาหารในบ้านเพื่อดูแลสุขภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสั่งอาหารออนไลน์ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดการชะลอตัว เช่น
- ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น: ค่าบริการส่งอาหารที่สูงขึ้นทำให้ผู้ใช้บริการลดลง
- คุณภาพของอาหารที่ได้รับไม่ตรงปก: ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอาหารที่ไม่ได้รับตามที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติและหน้าตา
- ความล่าช้าในการส่งอาหาร: ปัญหาเกี่ยวกับเวลาการจัดส่งที่ล่าช้า
การแข่งขันและกลยุทธ์ของตลาด Food Delivery
ตลาด Food Delivery ได้มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างบริษัทและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อแย่งฐานลูกค้าและส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายรูปแบบที่สามารถใช้เพื่อที่จะได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น
- การเสนอโปรโมชั่นและส่วนลด : ใช้โปรโมชั่นและส่วนลดเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าที่มีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คาดหวังว่าจะมีการสั่งอาหารมาก เช่น วันหยุด หรือช่วงเวลาที่มีงานเฉลิมฉลอง
- การพัฒนาแอปพลิเคชันและเทคโนโลยี : การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพสูง เช่น การทำให้ระบบการสั่งซื้อและการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ความสะดวกสบายในการใช้บริการ : การมีการจัดส่งที่รวดเร็วและตรงเวลา เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและเชื่อถือ
- การสนับสนุนลูกค้า : การให้บริการลูกค้าที่ดี รวมถึงการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนหรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- การตลาดและการโฆษณา : การใช้กลยุทธ์การตลาดและการโฆษณาที่ชัดเจน เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มการรับรู้และความนิยมของบริการ Food Delivery
- การควบคุมคุณภาพ : การมีการควบคุมคุณภาพอาหารและการบริการที่ดี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
ผลประกอบการของ Food Delivery เจ้าใหญ่ในประเทศไทย
บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ แกร็บ
ภาพรวม 4 ปี บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ของปี 2566 เพิ่มขึ้นมากถึง 15,622,426,576 บาท โดยกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปีนี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งผลให้บริษัทนี้สามารถกลับมาทำกำไรได้ในปี 2565 หลังจากขาดทุนในปี 2564
ผลประกอบการ
- ปี2563 ขาดทุนสุทธิ 284,280,850 บาท
- ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 325,252,107 บาท
- ปี2565 กำไรสุทธิ 576,134,254 บาท
- ปี2566 กำไรสุทธิ 1,308,464,289 บาท
บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ไลน์แมน
ภาพรวม 4 ปี ไลน์แมน ยังมีปัญหาหารขาดทุนสุทธิสะสม เช่นกัน โดยในปี 2566 บริษัทมีภาวะการเงินที่ดีขึ้น โดยมีรายได้รวมสูงสุด 11,634 ล้านบาททำให้ผลประกอบการในปี 2566 ขาดทุนสุทธิลดลงจาก 2,730 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 253ล้านบาท
ผลประกอบการ
- ปี2563 ขาดทุนสุทธิ 1,114,666,254 บาท
- ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 2,386,522,457 บาท
- ปี2565 ขาดทุนสุทธิ 2,730,849,262 บาท
- ปี2566 ขาดทุนสุทธิ 253,806,613 บาท
บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ฟู้ดแพนด้า
ภาพรวม 4 ปี ฟู้ดแพนด้า ยังมีปัญหาหารขาดทุนสุทธิสะสม แต่ในปี 2566 บริษัทฟู้ดแพนด้า ประสบกับภาวะการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งปรากฏในผลกำไรสุทธิที่บวกเข้ากับสถานการณ์ของบริษัทหลังจากขาดทุนในปี 2565 ซึ่งตกต่ำลงจากปี 2564 และ 2563 ที่มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ผลประกอบการ
- ปี2563 ขาดทุนสุทธิ 3,595,901,657 บาท
- ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 4,721,599,978 บาท
- ปี2565 ขาดทุนสุทธิ 3,255,107,979 บาท
- ปี2566 ขาดทุนสุทธิ 522,486,848 บาท
บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด หรือ โรบินฮู้ด
ภาพรวมในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โรบินฮู้ด ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิมาต่อเนื่อง แม้ในปี 2566 จะมีรายได้รวมสูงสุดถึง 724,446,267 บาท จากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 538,245,295 บาท แต่ก็ยังมีรายจ่ายที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน
ผลประกอบการ
- ปี2563 ขาดทุนสุทธิ 87,829,231 บาท
- ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337 บาท
- ปี2565 ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776 บาท
- ปี2566 ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184 บาท
โดยล่าสุด บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCBX ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood หนึ่งในฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เคยได้รับความนิยมจากผู้บริโภค หลังจากประสบปัญหาขาดทุนสะสม 4 ปี รวมกันสูงถึง 5,565 ล้านบาท
ด้วยขนาดตลาด Food Delivery ในไทยที่ยังคงมีแนวโน้มลดลงในปี 2567 และผลกระทบจากการปรับตัวของตลาดทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน ผู้เล่นหลักในตลาดจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่น่าจับตาว่าการแข่งขันในสมรภูมิ Food Delivery ของประเทศไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร และนโยบายของภาครัฐจะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต
ผู้เขียน
นางสาวจินต์ศุจี มณฑิราลัยพร
ที่มา
https://www.posttoday.com/business/710520
https://www.facebook.com/thestandardwealth/videos/2766491230181237