Nature as a Person: กฎหมายที่ยกระดับธรรมชาติเทียบเท่าบุคคล
ปัญหาเรื่อง ‘คน’ และ ‘ป่า’ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีการโต้เถียงกันมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างให้เห็นในช่วงที่ผ่านมาอย่างกระแส #saveทับลาน ที่ประชาชนออกมาคัดค้านอุทยานแห่งชาติทับลาน ในการปรับแนวเขตใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบทางลบ และข้อกังขาในวัตถุประสงค์ พื้นที่ป่าเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงที่มั่นให้กับความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกแง่มุมของการดำรงชีวิต และวัฒนธรรม มนุษย์เป็นอีกองค์ประกอบที่มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งด้านการใช้ประโยชน์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต จึงเกิดเป็นกฎระเบียบที่เข้ามาจัดการความเรียบร้อย
เรื่อง ‘การใช้ประโยชน์’ ของพื้นที่ป่า เป็นเรื่องที่ต้องรักษาสมดุลระหว่าง ‘ประโยชน์ส่วนรวมของมนุษย์’ และ ‘ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม’ ไม่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้รับผลดีหรือผลเสียมากจนเกินไป
แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน โลกเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จนปลายทางอาจไม่สามารถกู้คืนได้ดังเดิม มีหลายประเทศที่จัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง เกิดเป็นแนวคิดกฎหมายที่นิยามธรรมชาติเป็นเหมือน ‘บุคคล (Personhood)’ เพื่อเป็นการป้องกันเชิงรุกที่ให้อำนาจในการปกป้อง และวิวัฒนาการตัวเอง ไม่ได้อิงตามกรอบพื้นที่ และการกระทำผิดถูกตั้งว่าเป็นเสมือนการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ตัวอย่างประเทศที่มีการออกกฎหมายนี้ได้แก่
เอกวาดอร์: เอกวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Nature) ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการดำรงอยู่, รักษา และกระบวนการวิวัฒนาการในตัวพื้นที่
โบลิเวีย: โบลิเวียผ่านกฎหมาย Rights of Mother Earth กฎหมายตระหนักถึงสิทธิของธรรมชาติต่อชีวิต การฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ อากาศบริสุทธิ์ ความสมดุล และการฟื้นฟู
นิวซีแลนด์: แม่น้ำวางกานุย (Whanganui) ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าแม่น้ำจะได้รับการยอมรับว่าเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิ และผลประโยชน์ของตนเอง แม่น้ำแห่งนี้ถือเป็นบรรพบุรุษอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมารีในท้องถิ่น
โคลอมเบีย: ศาลรัฐธรรมนูญแห่งโคลอมเบียรับรองสิทธิของแม่น้ำอาตราโต (Atrato) ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ศาลสั่งให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องแม่น้ำ รวมถึงการทำความสะอาดและป้องกันการปนเปื้อน
อินเดีย: ศาลสูงรัฐอุตตราขัณฑ์ในอินเดียยอมรับให้แม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นนิติบุคคลที่มีสถานะเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่ควรได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และให้สิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมาย
สหรัฐอเมริกา: เมืองโทลีโด รัฐโอไฮโอผ่านกฎหมาย Lake Erie Bill of Rights ซึ่งให้สิทธิบุคคลตามกฎหมายแก่ทะเลสาบ Erie
ความแตกต่างหากมองธรรมชาติเป็น ‘บุคคล’ คือการยอมรับธรรมชาติในฐานะนิติบุคคลที่มีสิทธิที่แท้จริง ผ่านทางผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง ภาครัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ากิจกรรมของตนจะไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติก่อนที่จะได้รับอนุญาต เป็นแนวทางเชิงรุกเพื่อป้องกันอันตรายต่อระบบนิเวศ โดยให้ความสำคัญกับสิทธิ และผลประโยชน์ของธรรมชาติมากกว่าผลประโยชน์ของมนุษย์หรือทางเศรษฐกิจ
‘ความต้องการของมนุษย์ไม่สิ้นสุด แต่อยู่บนฐานทรัพยากรที่มีจำกัด’ ท้ายที่สุดแนวคิดนี้มีความท้าทายเรื่องการรักษาสมดุล มุมมองที่หลากหลายของผู้คน และเป้าหมายของความต้องการจะเป็นตัวชีวัดความสำเร็จของกฎหมายนี้ว่าจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ผู้เขียน: กัณฑ์ฉัตร สมเหมาะ
ที่มา: