จากเทรนด์สัตว์เลี้ยงหรูสู่เทรนด์การรับเลี้ยงหมาจรจัด
Pet Humanization คือตลาดขนาดใหญ่
กระแส Pet Humanization หรือการที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก ช่วยลดความเหงา และสร้างเม็ดเงินให้ระบบเศรฐกิจจำนวนมาก เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 126.66 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 เป็น 193.65 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2575 โดยมี CAGR อยู่ที่ 5.45% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 67 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท เทรนด์นี้เป็นแนวโน้มที่น่าจับตาในอนาคต ข้อมูลจาก CRC VoiceShare พบว่าคนไทย เลี้ยงสุนัข 63%, แมว 49% และสัตว์ Exotic 12%
การเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงหรู ส่งผลต่อสุขภาพของน้อง
แต่มีแนวโน้มที่น่าจับตาจากต่างประเทศในเรื่องการพูดถึงการรับเลี้ยงสัตว์บางสายพันธุ์ที่มีโครงสร้างร่างกายที่อาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของน้องๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจากสายพันธุ์แท้ อย่างเช่น ในประเทศเยอรมนีร่างกฎหมายห้ามเพาะพันธุ์สุนัขที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมีการพูดถึงสุนัขพันธุ์ ดัชชุน ที่รูปร่างยาวเหมือนใส้กรอก สร้างความน่ารัก แต่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพน้องหมาเอง หรือในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ อย่างเช่น British Veterinary Association และ PETA ได้เตือนเรื่องการรับเลี้ยงสุนัขพันธุ์ French Bulldogs ด้วยหน้าตาแบนเล็กที่น่ารัก แต่สิ่งนี้อาจส่งผลแย่ต่อระบบหายใจ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเมื่อความต้องการสมาชิกใหม่ในครอบครัวถูกตั้งคำถามด้วยสวัสดิภาพของสายพันธุ์
เทรนด์ใหม่สุนัขรับเลี้ยง
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้นคือการรับสัตว์ไร้บ้านมาเลี้ยงมากขึ้น ข้อมูลจาก DOGS TRUST (UK) จำนวนสุนัขที่ถูกรับเลี้ยงเพิ่มขึ้น 5% ในขณะที่จำนวนแมวที่ถูกรับเลี้ยงเพิ่มขึ้น 2% และข้อมูลจาก Shelter Animals Count (USA) มีสุนัขมากกว่า 1.5 ล้านตัวถูกรับเลี้ยงในปี 2566 ในการสำรวจของ Forbes Advisor กับเจ้าของสุนัข 10,000 ราย ส่วนใหญ่รายงานว่าพวกเขารับสุนัขของตนมาจากผู้เพาะพันธุ์ (36%) ตามมาด้วยการรับสุนัขจากสถานสงเคราะห์ (23%) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เห็นถึงการการรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทยอยเพิ่มความนิยมขึ้น อาจทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่เล็งเห็นช่องว่างของประสบการณ์ และพฤติกรรม จากสถานรับเลี้ยงถึงบ้านหลังใหม่ได้
การจัดการเรื่องปัญหาหมาจรในประเทศไทย
ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ พบข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562 ประเทศไทยมีสุนัขที่ไม่มีเจ้าของอยู่ 109,123 ตัว ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ.2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัด ประมาณ 1,920,000 ตัว และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว จากรายงานประจำปี 2022 ของ Soi Dog Foundation มีสัตว์จำนวน 196,106 ตัวที่ได้รับการทำหมันหรือทำหมันจากการดำเนินการของมูลนิธิ ซึ่งสุนัขกว่า 100,000 ตัวมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล
กรณีศึกษาของ Gluta Story ผู้นำเทรนด์การเลี้ยงหมาจรจัด
กรณีศึกษาของ Gluta Story เป็นการเล่าเรื่องราวของ “กลูต้า” สุนัขตัวแรกที่คุณยอร์ชและคุณส้มเก็บมาเลี้ยง และตามมาด้วยน้องหมาแมวอีกหลายชีวิตที่เข้ามาในครอบครัวสัตว์เลี้ยงที่อบอุ่นนี้ พวกเขาได้เผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ลงในโลกออนไลน์ ตั้งแต่เว็บไซต์พันทิป, เพจเฟซบุ๊ก จนถึงช่องยูทูปที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามถึง 1.3 ล้านคน Gluta Story มีผู้ติดตามหลายคนเปิดเผยว่า Gluta Story เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขารับเลี้ยงสุนัขจรจัดที่ซึ่งมีความน่ารักไม่แพ้กัน จึงเรียกได้ว่า Gluta Story จึงเป็นผู้ Set เทรนด์ การรับเลี้ยงหมาจรในประเทศไทย
แม้ในต้นปี 2024 ที่ผ่านมา น้อง กลูต้า จะจากไปด้วยวัย 18 ปี และล่าสุด กอลลั่ม สนุขคู่ใจที่ถูกรับเลี้ยงมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็บ๊ายบายไปเจอเพื่อนที่ดาวหมาแล้ว
แต่สิ่งที่ทิ้งไว้คือการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ด้านการรับเลี้ยงหมาแมวจรในประเทศไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น และยังคงสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ส่งต่อความน่ารักของสมาชิกหมาแมวอีกมากมายในบ้าน Gluta Story แห่งนี้ ให้บรรดาทาสหมา ทาสแมวได้มีความสุขไปตามๆ กัน
ผู้เขียน: กัณฑ์ฉัตร สมเหมาะ
ผู้เขียน: พลวัฒน์ จูเจริญ
รูปภาพจาก
https://www.facebook.com/GlutaStory
ที่มา:
https://www.infoquest.co.th/2024/383330
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1117864
https://www.forbes.com/advisor/pet-insurance/pet-adoption-statistics/
https://www.dogster.com/lifestyle/pet-adoption-statistics-uk
https://www.thaipbs.or.th/news/content/314447
https://www.fortunebusinessinsights.com/industry-reports/pet-food-market-100554