วัฒนธรรมกินเจ กับตลาดโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein)
เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 3 ต.ค. – 11 ต.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 9 วัน ที่คนไทยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะ “กินเจ” คืองดบริโภคเนื้อสัตว์ โดยกินเจมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งกินเจเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น, กินเจเพื่อทำบุญ และกินเจเพื่อละเว้นกรรม (ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) โดยประมาณการ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจน่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นแล้วจบในช่วงไม่กี่วันในหนึ่งปี เรายังมีไลฟ์สไตล์การงดบริโภคเนื้อสัตว์ที่กินประจำตลอดทั้งปี โดยมีหลากหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น กินเจ (ที่กินได้หลายแบบ) กินมังสวิรัติ กินแบบวีแกน เหล่านี้มีข้อบังคับการกินที่แตกต่างกันไป ข้อมูลจากชุดข้อมูลวิจัยเทรนด์ Future Food Business Trends 2025 โดยศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ มีข้อมูลว่า มีคนไทยไม่กินเนื้อสัตว์ 7.8% ของประชากรทั้งหมด
จากข้อมูลตลาดดังกล่าวทำให้มองเห็นโอกาสของธุรกิจโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) คือการกินโปรตีนทางเลือกเข้ามาแทนโปรตีนแบบดั้งเดิมที่ผลิตจากระบบปศุสัตว์ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว ธัญพืช เห็ด สาหร่าย รวมไปถึงโปรตีนที่ทำมาจากแมลง และเนื้อสังเคราะห์ (Cultured (lab-grown) Meat) โปรตีนทางเลือกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยงานวิจัยต่างๆ ที่เข้ามาพัฒนารสชาติ เนื้อสัมผัส และสารอาหารที่ได้ ข้อมูลวิจัยจาก Precedence Research ระบุว่าโปรตีนทางเลือกมีขนาดตลาด 15.38 พันล้าน USD ในปี 2023 และเติบโต 8.23% ต่อปี
กลุ่มเป้าหมายของโปรตีนทางเลือกมีเหตุผลในการเลือกกินที่หลากหลาย นอกเหนือจาก เหตุผลของคนกินเจ คือเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อทำบุญ และละเว้นกรรม ในระดับโลกยังมีเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ลดการใช้ประโยชน์ทุกชนิดจากสัตว์ (วีแกน)
- การกินเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะระบบปศุสัตว์ (โดยเฉพาะเนื้อวัว) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่มาก
- การกินเพื่อแก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหาร
จากข้อมูลวิจัยจากบารามีซี่แล็บ ระบุว่า เกณฑ์ในการเลือกซื้ออาหาร ประกอบไปด้วย รสชาติและความอร่อย 60.1% ความสะอาด ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 58.8% ราคาและความคุ้มค่า 55.4% และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 22.4%
“เหตุผล” ในการเลือกกินของคนเราอาจมีหลากหลาย แต่น่าสนใจว่าเพียงแค่การเลือกกิน หรือไม่กินอะไร ก็สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ ไม่ว่าเราจะเลือกไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะ นับถือเจ้าแม่กวนอิม ไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ ลดโลกร้อน หรือเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
โลกก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว.
ผู้เขียน: พลวัฒน์ จูเจริญ
ที่มา:
Future Food Business Trends 2025 โดย ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต บารามีซี่แล็บ
https://www.thaipbs.or.th/news/content/344640
https://www.precedenceresearch.com/alternative-protein-market
https://www.nature.com/articles/s41467-024-47091-0