สถานการณ์ E-commerce ในประเทศไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาด E-commerce ในประเทศไทยได้เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดที่มีความเคลื่อนไหวสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตนี้ได้รับแรงผลักดันจากการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ที่มีผลต่อเนื่องมากจากช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดนั่นเอง โดยข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่ารายได้ในตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะสูงถึง 19.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และคาดว่ารายได้จะแสดงอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2024-2029) ที่ 10.89% ส่งผลให้มีปริมาณตลาดที่คาดการณ์ไว้ที่ 32.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029
หนึ่งในแอปพลิเคชั่น e-commerce ที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทยคือ Shopee แอปนี้เป็นที่รู้จักดีในฐานะตลาดออนไลน์ที่มีสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่แฟชั่นและเครื่องสำอางไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของใช้ในบ้าน Shopee ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจและประสบการณ์การช็อปปิ้งที่สะดวกสบาย อีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นที่มีบทบาทสำคัญในตลาด e-commerce ของไทยคือ Lazada ซึ่งเป็นเจ้าของโดยกลุ่ม Alibaba ของจีน Lazada มุ่งเน้นไปที่การให้บริการสินค้าในหลากหลายหมวดหมู่และการให้บริการจัดส่งที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งทำให้ Lazada สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยล่าสุด ประเทศไทยจะมีการเข้ามาใหม่ของ E-commerce ที่ชื่อว่า Temu ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแวดวงค้าปลีกออนไลน์ในประเทศไทย โดย Temu เป็นแอพพลิเคชันช็อปปิ้งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายและราคาที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายและคุ้มค่ามากที่สุด Temu มุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์ราคาต่ำและโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้า ทำให้ผู้บริโภคในไทยสามารถเข้าถึงสินค้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องออกจากบ้าน นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการคลังสินค้าและการส่งมอบยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า ทำให้ Temu กลายเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่มีการแข่งขันสูง
ปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้พัฒนาไปไกลกว่าเพียงแค่เป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารและแชร์คอนเทนต์ แต่ยังกลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำธุรกิจอีกด้วย การเพิ่มฟีเจอร์การขายสินค้าเข้ามาในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เช่น Facebook, Instagram และ TikTok ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำการซื้อขายสินค้าได้โดยตรงจากแอพพลิเคชัน โดยไม่ต้องออกจากแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ ความสะดวกสบายนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทันทีจากคอนเทนต์ที่พวกเขาชื่นชอบ โดยจากข้อมูลของ EcomEye อัตราการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจบางประการ ในปี 2024 อีคอมเมิร์ซคิดเป็นประมาณ 8% ของยอดขายปลีกทั้งหมดของประเทศไทย ในขณะที่บนโซเชี่ยลมีเดียแพลตฟอร์มคิดเป็น 75% โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Facebook, Line และ Instagram ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากโดยผู้บริโภคชาวไทย 56%
ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทย จึงน่าติดตามว่าการแข่งขันในสมรภูมิ E-Commerce ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต การดำเนินนโยบายของภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการพัฒนาตลอดเวลา
ผู้เขียน
นางสาวจินต์ศุจี มณฑิราลัยพร
ที่มา