“บุฟเฟ่ต์ชาบู-ปิ้งย่าง” สนามรบแห่งใหม่ของร้านอาหารแบรนด์ และสมรภูมิในใจผู้บริโภคยุคใหม่
แม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้น แต่อารมณ์อยากกิน “บุฟเฟ่ต์แบบจุก ๆ” ของคนไทยกลับไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย ร้านบุฟเฟ่ต์จึงยังคงเป็นจุดหมายสำคัญของหลายคน — ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดังในห้าง หรือร้านปิ้งย่างหน้าปากซอยที่มีควันลอยกรุ่น
เพราะ “บุฟเฟ่ต์” ไม่ใช่แค่มื้ออาหาร แต่มันคือพิธีกรรมของการปลดปล่อย
ผู้บริโภคโหยหา “บุฟเฟ่ต์” ไม่ใช่แค่เพราะหิว แต่มันคือ พิธีกรรมของการปลดปล่อย — ทั้งความเหนื่อยล้า ความเครียด และความอยากในใจ คือจุดนัดพบของมิตรภาพ และเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่เรารู้สึกว่า… “วันนี้ ฉันให้รางวัลตัวเองแล้ว” เหตุผลทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ร้านบุฟเฟ่ต์คือพื้นที่แห่งการชั่งน้ำหนักระหว่าง“ความคุ้มค่า” กับ “ความสุขในทันที” และในอีกด้านหนึ่ง — มันคือ สนามประลองของแบรนด์อาหารที่ต้องแข่งกันทั้ง คุณภาพ ราคา และประสบการณ์ เพราะการชนะใจผู้บริโภค…ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ แต่มันคือการตอบโจทย์ “ความคาดหวัง” ที่ผู้คนมีต่อร้านบุฟเฟ่ต์
“ร้านอาหารแบรนด์แนวปิ้งย่างและสุกี้ชาบู” กลายเป็นสนามแข่งขันสำคัญของธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่ใช่แค่เพราะจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะแต่ละแบรนด์ต่างเร่งปรับกลยุทธ์อย่างดุเดือดทั้งด้าน ราคา โปรโมชัน วัตถุดิบ และ ประสบการณ์การรับประทานอาหาร ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจากร้านบุฟเฟ่ต์ราคาประหยัดที่เริ่มต้นเพียงหลักร้อย ไปจนถึงร้านพรีเมียมที่เสิร์ฟเนื้อวากิวและซีฟู้ดสดใหม่ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในทุกช่วงราคา โดยเฉพาะในกลุ่ม คนเมือง วัยทำงาน นักศึกษา และครอบครัวที่มองหา “มื้อคุ้มค่า” ทั้งในด้าน รสชาติ ปริมาณ และประสบการณ์
เบื้องหลังมื้อบุฟเฟ่ต์ที่ดูเหมือนจะง่ายดาย มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่…
ทั้งการเปรียบเทียบราคา การคัดเมนูที่ “คุ้มที่สุดต่อคำ” การเลือกร้านที่ให้ความรู้สึกว่า “เยอะกว่า คุ้มกว่า” รวมถึงการล่าโปรโมชันเด็ดอย่าง “มา 4 จ่าย 3” หรือ “ลด 10% ผ่านแอป” เพื่อให้มื้อนั้น ทั้งอิ่ม ทั้งคุ้ม และไม่รู้สึกผิดทีหลัง ท่ามกลางความต้องการที่หลากหลายและความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น ร้านบุฟเฟ่ต์แนวปิ้งย่าง–สุกี้ชาบู จึงต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แต่ละร้านต่างเร่งพัฒนากลยุทธ์เพื่อแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภคในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น…
- การออกเซ็ตเมนูใหม่ เพิ่มไอเทมอย่างซูชิ ซีฟู้ด หรือขนมหวาน เพื่อเพิ่มความคุ้มค่า
- การเลือกใช้วัตถุดิบระดับพรีเมียม อย่างเนื้อวากิว หรือกุ้งแม่น้ำตัวโต
- การสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล ด้วยหม้อส่วนตัว เตาส่วนบุคคล หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้กิน
- การทำโปรโมชันถี่ ๆ ผ่านโซเชียลและแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ เพื่อครองทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์
คำถามที่น่าสนใจคือ:
- แล้วผู้บริโภคจริง ๆ ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์กันบ่อยแค่ไหน?
- พวกเขารู้สึกว่ากินบ่อยขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา?
- และการแข่งขันของร้านบุฟเฟ่ต์ที่ออกโปรแรงแข่งกันแทบทุกสัปดาห์ —มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้บริโภคแค่ไหนกันแน่?
เพื่อให้เข้าใจภาพนี้ได้ชัดเจนขึ้น เราได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อ “ร้านอาหารแบรนด์”และวิเคราะห์ว่าอะไรคือแรงจูงใจจริง ๆ ที่ทำให้พวกเขาเลือกกลับไปใช้บริการซ้ำ หรือเปลี่ยนใจไปลองร้านใหม่
ผู้บริโภคเคยใช้บริการร้านอาหารแบรนด์กันมากน้อยแค่ไหน
บริษัท บารามีซี่ แล็บ และ IQQEW POLL ได้สำรวจผู้บริโภคจำนวน 800 คนทั่วประเทศ พบว่า พฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ – หมายถึงร้านอาหารที่มี มากกว่า 1 สาขา และมีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในห้างหรือเป็นร้านแบบห้องแอร์นอกห้าง – สามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้:
- กลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดในผลสำรวจนี้ คือ กลุ่ม Light Users ซึ่งคิดเป็นประมาณ 38.25% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ในลักษณะนาน ๆ ครั้ง หรือมีความถี่ในการใช้บริการน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง โดยส่วนใหญ่จะใช้บริการประมาณ 2 สัปดาห์ครั้ง หรือนานกว่านั้น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ใช่ลูกค้าประจำ แต่ยังมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้บริการในบางโอกาสที่เหมาะสม
เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม Light Users กับกลุ่มตัวอย่างโดยรวม พบว่า กลุ่ม Light Users มีสัดส่วนโดดเด่นสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้หญิงวัย Gen X (อายุ 45-59 ปี) ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท และอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย - รองลงมา คือกลุ่ม Moderate–Occasional Users ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30.88% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ในลักษณะ ไม่สม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ได้ห่างเหิน โดยมีความถี่เฉลี่ยอยู่ที่ 1–2 ครั้งต่อเดือน และมักจะเลือกรับประทานตามโอกาสพิเศษ เช่น การพบปะสังสรรค์ หรือเมื่อมีแรงจูงใจจากโปรโมชั่นที่น่าสนใจ
เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม Moderate–Occasional Users กับกลุ่มตัวอย่างโดยรวม พบว่า กลุ่มนี้มีสัดส่วนที่โดดเด่นในกลุ่ม ผู้ชาย วัย Gen Z (อายุ 18–28 ปี) ที่มีรายได้อยู่ในช่วง 15,001 – 30,000 บาท และอาศัยอยู่ใน กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย โดยทั้ง 3 ภูมิภาคมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน - อันดับ 3 คือกลุ่ม Non-Users ซึ่งคิดเป็นประมาณ 13.75% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ ไม่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์เลย โดยอาจมีเหตุผลจากรูปแบบการใช้ชีวิต ความเชื่อส่วนตัว หรือการเลือกทางเลือกอื่น เช่น การทำอาหารรับประทานเอง หรือการเลือกใช้ร้านอาหารท้องถิ่นขนาดเล็ก
เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างโดยรวม พบว่า กลุ่ม Non-Users มีสัดส่วนโดดเด่นในกลุ่มผู้ชายและ LGBTQIA+ โดยเฉพาะในช่วงอายุ ต่ำกว่า 18 ปี และ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีรายได้ ต่ำกว่า 15,000 บาท และอาศัยอยู่ใน ภาคตะวันตกของประเทศไทย - ในขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรม “กินเป็นประจำ” หรือผู้ที่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์อย่างน้อย สัปดาห์ละครั้ง กลับมีสัดส่วนรวมกันเพียง ประมาณ 17.13% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่: Moderate–Regular Users ผู้ที่ใช้บริการค่อนข้างสม่ำเสมอ ประมาณ 1–2 ครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็นสัดส่วน 7.25% ของกลุ่มตัวอย่าง และ Heavy Users ผู้ที่ใช้บริการบ่อยมาก มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็นสัดส่วน 9.88% ของกลุ่มตัวอย่าง ทั้ง 2 กลุ่มสะท้อนถึงผู้บริโภคที่มี Lifestyle พึ่งพาการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก โดยมักให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ความคุ้นเคย และคุณภาพของบริการที่มั่นใจได้จากร้านอาหารแบรนด์
แม้เราจะสามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคตามระดับความถี่ในการใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ได้อย่างชัดเจน แต่พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้หยุดนิ่ง — เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าพฤติกรรมการใช้บริการของหลายกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งในทิศทางที่ “เพิ่มขึ้น” และ “ลดลง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด คำถามสำคัญที่ตามมาคือ… แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในรอบปีที่ผ่านมา? ใครที่ “กินมากขึ้น”? ใครที่ “ห่างร้านมากกว่าเดิม”? และเพราะอะไร?
ความถี่ในการเข้าร้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในรอบปี
เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ยังมีโอกาสใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ พบว่า ประมาณ 35.65% มีความถี่ในการใช้บริการลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะถอนตัวออกจากตลาดร้านอาหารแบรนด์ เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ พบว่า กลุ่ม Light Users มีสัดส่วนโดดเด่นเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และระดับความพึงพอใจที่ลดลง ดังนี้
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (แรงกดดันหลัก) ทั้งเรื่องรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดสภาพคล่องและต้อง ปรับตัวด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็น ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งอาหาร ของใช้ และค่าใช้จ่ายประจำวัน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดแรงงานฝืดเคือง ทำให้เกิด ความระมัดระวังในการใช้เงิน
- ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์ (การเลือกใช้ชีวิตแบบใหม่) ผู้บริโภคบางส่วน หันกลับมาทำอาหารเองที่บ้าน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เช่น งานรัดตัว หรือไม่สะดวกเดินทางออกจากบ้าน ทำให้การไปใช้บริการนอกบ้านกลายเป็นเรื่องรอง
- ปัจจัยด้านประสบการณ์และความคุ้มค่า ผู้บริโภคบางราย รู้สึกเบื่อเมนูเดิม ๆ หรือรับรู้ว่าคุณภาพอาหารลดลงเมื่อเทียบกับราคา ความคุ้มค่าของราคาที่จ่าย ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ที่ได้รับ ทำให้ลดการใช้บริการลง
ประมาณ 20.72% ของกลุ่มที่ยังมีโอกาสใช้บริการร้านอาหารแบรนด์ มีความถี่ในการใช้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่โดดเด่นคือ Heavy Users ซึ่งใช้บริการมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ กลุ่มนี้สะท้อนถึงผู้บริโภคที่มีแรงจูงใจและศักยภาพในการใช้บริการเพิ่มขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยบวกหลายด้าน เช่น รายได้ที่สูงขึ้น ความสะดวกสบายที่ดีขึ้น และความต้องการหาความสุขผ่านการรับประทานอาหารที่หลากหลาย นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับแบรนด์ในการขยายฐานลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน โดยกลุ่มนี้ยังคงมีแนวโน้มใช้บริการร้านอาหารแบรนด์บ่อยขึ้นจากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
- ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านรายได้และกำลังซื้อที่ดีขึ้น ทำให้มีความพร้อมทางการเงินในการใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น
- ปัจจัยด้านความสะดวก การขยายสาขาใกล้บ้านหรือที่ทำงาน ทำให้เข้าถึงร้านได้ง่ายขึ้น บริการที่ดีขึ้น รวมถึงระบบเดลิเวอรีที่สะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลา
- ปัจจัยด้านความพึงพอใจ ทั้งเรื่องของรสชาติและคุณภาพอาหารที่ถูกใจและหลากหลาย ความต้องการเปลี่ยนบรรยากาศและลองเมนูใหม่ ๆ เพิ่มความสนุกสนานในการรับประทาน
- ปัจจัยทางการตลาด โดยเฉพาะโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษที่ดึงดูดใจ ทำให้รู้สึกคุ้มค่าและอยากใช้บริการบ่อยขึ้น
- ปัจจัยด้านสังคมและไลฟ์สไตล์ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น ออกไปข้างนอกบ่อยขึ้น ไม่มีเวลาทำอาหารเอง และการให้รางวัลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อสร้างความสุขและผ่อนคลาย
กลุ่มผู้บริโภคที่มีความถี่ในการใช้บริการ “ร้านอาหารแบรนด์” คงที่ตลอดปีที่ผ่านมา (ประมาณ 43.62% ของกลุ่มที่ยังมีโอกาสใช้บริการร้านอาหารแบรนด์) มักเป็นคนที่วางแผนการใช้จ่ายไว้ชัดเจน เช่น กำหนดงบไว้ต่อเดือน หรือเลือกกินตามโอกาสที่เหมาะสม ความต้องการของกลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนมาก เพราะมองว่าการไปร้านอาหารแบรนด์เป็นเรื่องปกติในชีวิต หรือทำแค่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น ในขณะที่เรื่องราคา ความสะดวก และโปรโมชัน ก็ยังมีผลต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้ หลายคนยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลา หรืออยากไปร้านเมื่อมีคนไปด้วยเท่านั้น จึงทำให้ความถี่ในการใช้บริการไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก
จากข้อมูล “ความถี่ในการเข้าร้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในรอบปี” แม้จะมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์มากขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายกลุ่มที่ลดความถี่ลงอย่างชัดเจน ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และมุมมองต่อความคุ้มค่าที่ได้รับจากการใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ลดลง มักได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือรู้สึกว่าอาหารไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ขณะที่กลุ่มที่ใช้บริการมากขึ้น มักมีรายได้ดีขึ้น ใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และเห็นว่าร้านอาหารแบรนด์ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกและความสุข
แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป จะพบว่าทั้งสองกลุ่มต่างให้ความสำคัญกับ “ความคุ้มค่า” ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ บริการ ความหลากหลาย หรือ ราคาและโปรโมชั่น คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ:
“ในตลาดร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง–ชาบู ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงมาก
ปัจจัยอย่างราคาและโปรโมชัน มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากแค่ไหน?”
คำตอบของคำถามนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนจริง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเลือกร้านของผู้บริโภคในยุคนี้
ปัจจัยด้านราคาและโปรโมชันในกลุ่มร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง–ชาบู มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคจริงหรือไม่
จากผลการสำรวจ พบว่า ข้อเสนอเมนูบุฟเฟ่ต์และราคาของร้านอาหารแบรนด์แนวปิ้งย่าง–ชาบู โดยเฉพาะในช่วงราคายอดนิยม 200–300 บาท มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการร้านอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้บริโภคถึง 69.25% ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้
กลุ่มที่มีความไวต่อราคาและข้อเสนอมากที่สุด คือผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำ ได้แก่
- Heavy Users คิดสัดส่วนเท่ากับ 83.54%
- Moderate–Regular Users คิดสัดส่วนเท่ากับ 81.03%
ส่วนกลุ่มที่ใช้บริการนานๆ ครั้ง แม้จะให้ความสำคัญกับราคาน้อยกว่ากลุ่มกินบ่อย แต่ก็ยังถือว่าสูง ได้แก่
- Moderate–Occasional Users คิดสัดส่วนเท่ากับ 76.52%
- Light Users คิดสัดส่วนเท่ากับ 70.92%
ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์เลย (Non-Users) ให้ความสำคัญกับราคาน้อยที่สุด โดยมีเพียง 31.82% เท่านั้นที่ตอบรับข้อเสนอด้านราคา
ข้อมูลนี้สะท้อนว่า “ราคาและเมนูบุฟเฟ่ต์” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ในตลาดปิ้งย่าง–ชาบู โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าประจำที่กินบ่อย ซึ่งมักมีประสบการณ์ในการเปรียบเทียบหลายร้าน และมีมาตรฐานในใจที่ชัดเจน การตั้งราคาให้น่าสนใจ และการพัฒนาเมนูอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าไว้ในระยะยาว
เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มที่ไวต่อราคาและข้อเสนอพิเศษมากที่สุด คือกลุ่มที่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์เป็นประจำ โดยเฉพาะ กลุ่ม Heavy Users และ Moderate–Regular Users ซึ่งข้อเสนอด้านราคา เช่น โปรโมชั่นหรือเมนูพิเศษ มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจเลือกร้าน และช่วยกระตุ้นให้พวกเขากลับมาใช้บริการบ่อยขึ้น เพราะรู้สึกว่าคุ้มค่า
ส่วนกลุ่มที่ใช้บริการเป็นครั้งคราว อย่าง กลุ่ม Light Users ข้อเสนอด้านราคาจะส่งผลเฉพาะในบางโอกาส เช่น การสังสรรค์ หรือการให้รางวัลตัวเอง
ขณะที่ กลุ่ม Non-Users แม้จะไม่ใช่ลูกค้าประจำ แต่ก็พบว่า ข้อเสนอราคาที่จูงใจสามารถทำให้บางคนเกิดการ“เปลี่ยนใจ” และตัดสินใจลองใช้บริการเมื่ออยู่หน้าร้านได้เช่นกัน
เมื่อ “ราคาถูก”…ไม่ใช่คำตอบของทุกคน
ในสนามแข่งขันของร้านอาหารแบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง–ชาบู ช่วงราคายอดนิยม 200–300 บาท หลายแบรนด์ต่างเร่งทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก เพื่อจูงใจลูกค้าให้ตัดสินใจง่ายขึ้น แต่จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สำรวจล่าสุด กลับสะท้อนมุมมองที่น่าคิดว่า “ราคาถูกไม่ได้เวิร์กกับทุกคน”
กลุ่มที่ข้อเสนอด้านราคามีอิทธิพลน้อยที่สุด คือกลุ่ม Non-User และ Light User ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า “บุฟเฟ่ต์ไม่คุ้ม” แม้จะอยู่ในช่วงราคาประหยัด พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจจากราคาเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาจากความคุ้มค่าโดยรวม—ทั้งคุณภาพอาหาร รสชาติ ความสะอาด และประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งหากรู้สึกว่าไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่าย ก็จะเลือก “ไม่เข้าใช้บริการ” อย่างไม่ลังเล ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้บริโภคที่มีความถี่ปานกลาง (1–2 ครั้งต่อสัปดาห์) และกลุ่มที่ใช้บริการบ่อยมาก (Heavy Users) เองก็ใช่ว่าจะตอบสนองต่อราคาถูกทุกครั้ง บางส่วนในกลุ่มนี้กลับมองว่า “บุฟเฟ่ต์ราคาถูก” อาจแลกมาด้วยคุณภาพที่ลดลง หรือประสบการณ์ที่ด้อยลง ไม่ว่าจะเป็นบริการ รสชาติ หรือบรรยากาศ ส่งผลให้พวกเขาหลีกเลี่ยงร้านอาหารที่เน้นแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ผู้บริโภคไม่ได้เลือกเพียงเพราะราคาถูก แต่เลือกจาก “ความรู้สึกคุ้มค่า” ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งคุณภาพอาหาร ความพึงพอใจในการรับประทาน และภาพลักษณ์ของแบรนด์
กลยุทธ์ราคาเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ หากไม่เสริมด้วยคุณภาพการบริการ
และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความคาดหวังของลูกค้า
การเข้าใจ ความแตกต่างในความคุ้มค่า ที่ผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม คือจุดเริ่มต้นของการวางตำแหน่งแบรนด์ที่ยั่งยืนกว่า
ในยุคนี้ ร้านอาหารแบรนด์ไม่ควรถามแค่ว่า “ควรลดราคาแค่ไหน?” แต่ควรถามว่า “ข้อเสนอของเราตรงใจลูกค้ากลุ่มไหน?” เพราะลูกค้าไม่ได้กลับมาใช้บริการซ้ำเพียงเพราะราคาถูก แต่เพราะรู้สึกว่า “คุ้มค่าที่ได้เลือกคุณ” และในตลาดที่มีการแข่งขันสูง การเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มมอง “ความคุ้มค่า” ไม่เหมือนกัน คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางตำแหน่งแบรนด์ให้แข็งแรงและยั่งยืน
จากผลการสำรวจครั้งนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า ผู้บริโภคไม่ได้เลือกร้านที่ราคาถูกที่สุดเสมอไป แต่พวกเขาเลือกจาก “ความคุ้มค่า” ที่แตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละบุคคล สามารถแบ่งผู้บริโภคออกเป็น 6 กลุ่มหลักตามพฤติกรรมและทัศนคติที่มีต่อโปรโมชันได้ดังนี้
- Impulse Changer: เปลี่ยนใจได้ทันที เมื่อเจอโปรเด็ดหน้าร้าน ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่มีร้านในใจชัดเจน แต่จะตัดสินใจหน้างานเมื่อเห็นโปรโมชั่นที่จูงใจ พวกเขาไม่จงรักภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่อ่อนไหวต่อ “คำว่าโปร” และ “ของแถม”
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : ควรใช้จุดหน้าร้านเป็นจุดเปลี่ยนใจ เช่น การจัดป้ายโปรโมชั่นเด่น ตู้โชว์เมนูพิเศษ รวมถึงการฝึกพนักงานให้สามารถ “ปิดการขายด้วยข้อเสนอ” ได้ทันที: ป้ายโปรโมชั่นเด่น ๆ เดินผ่านแล้วต้อง “ว้าว”, เดลิเวอรีที่มีโปรหน้าแอปฯ ที่เปลี่ยนทุกสัปดาห์ - Occasional Value-Seeker: โปรมีผล…แต่เฉพาะในโอกาสพิเศษ ลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่ใช้บริการร้านอาหารแบรนด์บ่อย แต่หากมีงานสังสรรค์ วันหยุด หรือออกไปกับเพื่อน พวกเขาจะมองหาโปรโมชัน เพื่อเพิ่มความรู้สึก “คุ้มค่า” ให้กับโอกาสนั้น ๆ
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : กลุ่มที่ใช้บริการในโอกาสพิเศษ แนะนำให้วางแผนดีลพิเศษเฉพาะช่วงเวลา เช่น วันหยุดยาว เทศกาล หรือช่วงสังสรรค์ พร้อมการตลาดที่เน้นความ “คุ้มค่าเฉพาะช่วงเวลา” เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ - Value-Seeker: เลือกร้านจากโปรบุฟเฟ่ต์เป็นหลัก กลุ่มนี้เน้น “ความคุ้มแบบจ่ายแล้วต้องเต็มที่” เป็นสายสู้บุฟเฟ่ต์ตัวจริงโปรโมชั่นคือเหตุผลหลักในการเลือกร้าน — ยิ่งมีของแถมหรือหลากหลายเมนู ยิ่งโดนใจ
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า ควรจัดโปรโมชั่นบุฟเฟ่ต์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมเพิ่มความพิเศษ เช่น เมนูลับประจำเดือน หรือสิทธิ์เฉพาะสมาชิก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง - Buffet-Avoider: ไม่ชอบบุฟเฟ่ต์ ไม่ว่าจะมีโปรโมชั่นมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจกลุ่มนี้ได้ พวกเขามองว่าบุฟเฟ่ต์ไม่ใช่ “คุณค่า” ที่ต้องการ อาจเพราะไม่ชอบกินเยอะ, กินช้า, หรือไม่อยากเร่งรีบ
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : กลุ่มที่ไม่ชอบระบบบุฟเฟ่ต์โดยตรง ควรเสนอตัวเลือกเมนู A la carte หรือชุดอาหาร (set menu) ที่ให้ประสบการณ์การรับประทานที่ดีและเหมาะสมโดยไม่บังคับให้เลือกระบบบุฟเฟ่ต์ทั้งหมด - Premium-Oriented: ถ้าจะกินบุฟเฟ่ต์ ต้องพรีเมียมเท่านั้น กลุ่มนี้ไม่สนใจโปรบุฟเฟ่ต์ราคาถูก พวกเขาต้องการคุณภาพ บริการดี และประสบการณ์ที่ “เหนือกว่า” ยอมจ่ายแพงถ้าคุณภาพสมราคา
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : กลุ่มที่เน้นคุณภาพและประสบการณ์ ควรพัฒนาเมนูพรีเมียมแบบ All You Can Eat ที่ให้ความรู้สึกพิเศษเหนือระดับ พร้อมบรรยากาศและบริการที่แตกต่างจากร้านทั่วไป - Quality-Conscious: ราคาถูกเกินไป = คุณภาพแย่? คนกลุ่มนี้ไม่ชอบโปรแรง ๆ เพราะตีความว่า “ของถูก = คุณภาพไม่ดี” พวกเขาระวัง ไม่อยากเสี่ยงกับการได้รับบริการหรือวัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพ
กลยุทธ์ที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มนี้ : กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและคุณภาพ ควรสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบแหล่งที่มา แสดงครัวเปิด หรือรับรองมาตรฐานความสะอาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นโดยไม่ต้องเน้นการลดราคา
แต่ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงและหลากหลายขึ้น ร้านอาหารไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับลูกค้าทุกกลุ่มได้อีกแล้ว การนำเสนอบริการที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการต่างกันจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จ เช่น การแบ่งพื้นที่ในร้านออกเป็นหลายโซนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ร้านควรมีโซนบุฟเฟ่ต์ทั่วไปสำหรับลูกค้าที่ชอบความคุ้มค่า และโซนพรีเมียมหรือโซนที่เงียบสงบ พร้อมบริการพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์ที่แตกต่าง วิธีนี้ช่วยให้ร้านรองรับลูกค้าหลายกลุ่มได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ การทำระบบสมาชิกหลายระดับก็ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น สมาชิกระดับ Silver สำหรับคนชอบโปรโมชั่น, Gold สำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการบ่อย และ Platinum สำหรับลูกค้าที่ชอบของพรีเมียม แต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง อีกทั้งการสื่อสารกับลูกค้าอย่างตรงกลุ่มก็สำคัญ ร้านควรใช้โซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นให้กับกลุ่มที่สนใจเรื่องราคาและข้อเสนอพิเศษ ขณะเดียวกันก็ใช้รีวิวจากลูกค้าจริงและเนื้อหาที่เน้นคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกับกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ซึ่งการใช้กลยุทธ์แบบผสมผสานนี้ช่วยให้ร้านเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม และยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ไม่ต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว
บทสรุปส่งท้าย
สุดท้ายนี้ ในตลาดร้านอาหารที่ลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ร้านอาหารแบรนด์ที่ต้องการเติบโตและอยู่ได้นาน ต้องเลิกใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับทุกคน การเข้าใจว่า “ใครคือลูกค้าของเรา” และ “แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญกับอะไร” คือหัวใจสำคัญของการวางแผนที่ได้ผลจริง
กลยุทธ์ที่ดีไม่ได้หมายความแค่การลดราคา หรือจัดโปรโมชั่นทั่วไป แต่คือการให้สิ่งที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มรู้สึกว่าคุ้มค่าและเหมาะกับความต้องการของเขาจริง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว และทำให้ร้านอาหารแบรนด์ของคุณแข็งแกร่งและแข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต