ภาพยนตร์หลานม่าฟีเวอร์กับแนวโน้มการอยู่อาศัยในครอบครัวหลายช่วงวัย
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า ‘How To Make Millions Before Grandma Die’ หนังล่าสุดจากค่าย GDH 559 กำกับและเขียนบทโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ นำแสดงโดย พุฒิพงศ์ อัศรัตนกุล และอุษา ตะเข็บคุ้ม ภาพยนตร์เรื่องหลานม่าเข้าฉาย เพียง 14 วันแรกก็ทำรายได้ไปทั่วประเทศถึง 250 ล้านบาท ต่อมาสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 11 โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันภาพยนตร์หลานม่ากวาดรายได้ในแต่ละประเทศในเอเชียไปได้อย่างท่วมท้น ประกอบไปด้วยประเทศไทย 337 ล้านบาท, มาเลเซีย 116 ล้านบาท, อินโดนีเซีย 412 ล้านบาท, สิงคโปร์ 91 ล้านบาท, ฟิลิปปินส์ 42 ล้านบาท, เวียดนาม 81 ล้านบาท, ฮ่องกง 6.5 ล้านบาท และลาว 3 ล้านบาท กวาดรายได้ทั่วโลกสุทธิ 1,088.5 ล้านบาทหลังจากที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ยังถือเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่สามารถทำรายได้ทะลุ 1 พันล้านบาทหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘พี่มากพระโขนง’ และ ‘ฉลาดเกมส์โกง’
เนื้อเรื่องตราตรึงใจทั้งเด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ทุกรุ่น
หลานม่า เป็นเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับที่มาจากสังคมครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนกับครอบครัวของเหล่าตัวละครในเรื่อง โดยเนื้อเรื่องจะเล่าถึง ‘เอ็ม’ (รับบทโดย บิวกิ้น พุฒิพงศ์) ที่ตัดสินใจดร็อปเรียนตอนปีสี่ เพื่อมาเอาดีทางด้านแคสต์เกม แต่ทำยังไงก็ไม่รวยเสียที แต่เมื่อเห็น ‘มุ่ย’ (รับบทโดย ตู ต้นตะวัน) ลูกพี่ลูกน้องที่ดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้ายจนได้รับมรดก เอ็มจึงตัดสินใจมาดูแล ‘อาม่า’ (รับบทโดย อุษา เสมคำ) ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกินปี โดยหวังว่าอาม่าจะยกมรดกหลักล้านเช่นกัน
หนังเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับที่อยากสะท้อนความเป็นจริงที่ดูแล้วไม่น่าเบื่อ ไม่ดราม่าเกินไป วิธีการเล่าเรื่องจึงดูสมจริง เป็นธรรมชาติ และบางคำพูดอาจทำให้หลายคนนึกถึงครอบครัวตัวเอง
หลานม่าฟีเวอร์กับการอยู่ร่วมกันในครอบครัวหลายช่วงวัย
ภาพยนตร์มักมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อค่านิยมและกระแสทางสังคมเสมอ ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องหลานม่า ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาม่ากับหลาน มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถมีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้ชมต่อการใช้ชีวิตในครอบครัวหลายช่วงอายุได้ ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับการให้เวลากับพ่อแม่ ปู่ย่า หรือตายาย และดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นให้แข็งแกร่งขึ้น
แนวโน้มของ Multi-Generation Family ทั่วโลกที่เติบโตขึ้น
Multi-Generation Family หรือครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย จากผลวิจัยระบุว่า ผู้ชายและผู้หญิงโดยรวมมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยเท่าๆ กัน แต่ในกลุ่มอายุ 25 ถึง 29 ปี ผู้ชายวัยรุ่น (37%) มีแนวโน้มที่จะอยู่กับครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยมากกว่าหญิงสาว (26%) อย่างเห็นได้ชัด การอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายถือเป็นแนวทางการดำรงชีวิตที่โดดเด่นสำหรับชายหนุ่มมานานกว่าทศวรรษ ทั้งนี้แนวโน้มการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนหลายวัยที่กำลังพัฒนาไปทั่วโลก โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภาพรวมของแนวโน้มปัจจุบันมีดังนี้
– เอเชีย :ในหลายประเทศในเอเชีย การมีครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยถือเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมมายาวนาน แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจกำลังเสริมให้แนวโน้มนี้มีเพิ่มมากขึ้น
– ญี่ปุ่น : ประชากรสูงวัยและค่าดูแลผู้สูงอายุที่สูงส่งผลให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันมากขึ้น ความเคารพทางวัฒนธรรมต่อผู้อาวุโสก็สนับสนุนแนวโน้มนี้เช่นกัน
– ไทย : แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลสมัยใหม่ในการเป็นอิสระในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่การมีครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยยังคงเป็นแนวทางปฏิบัติที่แพร่หลาย เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าครองชีพที่สูง
– อเมริกาเหนือ : ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ครัวเรือนหลายรุ่นกำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ พลวัตของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
– สหรัฐอเมริกา : ความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าที่อยู่อาศัยและหนี้เงินกู้นักเรียน กำลังผลักดันให้คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น นอกจากนี้ หลายครอบครัวรับญาติผู้สูงอายุเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลผู้สูงอายุที่สูง นอกจากนี้ยังมีการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการมีครอบครัวขยายอยู่ใกล้ๆ ในการดูแลเด็กและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
– แคนาดา : มีแนวโน้มที่คล้ายกัน โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นและสังคมพหุวัฒนธรรมที่ครอบครัวผู้อพยพมาอาศัยจำนวนมาก ทำให้ยังคงรูปแบบการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมซึ่งส่งผลให้มีครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยเพิ่มมากขึ้น
– ยุโรป : ในยุโรป การดำรงชีวิตในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางวัฒนธรรมและสภาพเศรษฐกิจไม่ต่างกัน
– ยุโรปตอนใต้ : ประเทศต่างๆ เช่น อิตาลี สเปน และกรีซ มักมีความผูกพันกับครอบครัวที่แน่นแฟ้น และวิกฤตเศรษฐกิจได้เสริมการดำรงชีวิตร่วมกับครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยให้เป็นวิธีแก้ปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับหลายครอบครัว
– ยุโรปเหนือ : มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับโครงการบ้านจัดสรรหลายรุ่นและชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการสูงวัย โครงการเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์กและเยอรมนี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องสวัสดิการสังคม
ตัวขับเคลื่อนการใช้ชีวิตร่วมแบบ Multi-Generations Family
- ปัจจัยทางเศรษฐกิจ : ค่าที่อยู่อาศัยที่สูง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และภาระทางการเงินในการดูแลผู้สูงอายุ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนหลายรุ่นทั่วโลก
- บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม : ในหลายวัฒนธรรม มีประเพณีที่เข้มแข็งในการสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของครอบครัวและความเคารพต่อผู้อาวุโส
- ประชากรสูงวัย : ด้วยจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในหลายส่วนของโลก ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายวัยจึงเป็นการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ
สุดท้ายนี้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความเข้มแข็งของครอบครัวในยุคที่ความเร่งรีบและภาวะเศรษฐกิจทำให้การมีที่อยู่อาศัยร่วมกันกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของผู้คนมากขึ้น การอยู่ร่วมกันในครอบครัวหลายช่วงวัยไม่เพียงแต่ช่วยให้สามารถแชร์ค่าใช้จ่ายและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงของครอบครัวหลายช่วงวัยได้อีกด้วย
ผู้เขียน
นางสาวจินต์ศุจี มณฑิราลัยพร
ที่มา
https://www.imdb.com/title/tt31392609/
https://www.vogue.co.th/lifestyle/entertainment/article/lahn-ma-1-billion
https://en.wikipedia.org/wiki/How_To_Make_Millions_Before_Grandma_Dies
https://movie.kapook.com/view278175.html
https://www.vox.com/24115808/multigenerational-housing-us-families-personal-finance
https://lombardohomes.com/multigenerational-living-statistics/