โลกหลัง COVID-19 ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร?
ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab ร่วมกับรศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ ประธานหลักสูตร MBA Executive คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันจัดทำงานวิจัยชุด “The Day After Crisis” ขึ้น เพื่อถอดรหัสและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแห่งอนาคตที่จะส่งผลต่อการเฝ้าระวังและการเตรียมการรับมือของภาคธุรกิจ
โดยวิธีการวิจัยคือการเก็บแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 443 ตัวอย่าง (ช่วงเวลาการเก็บข้อมูล 23 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2563)โดยชุดคำถามที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นนี้ตั้งอยู่พื้นฐานที่เราทราบเงื่อนไขดีว่า ช่วงเวลาขณะนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากผู้บริโภคเองก็อาจไม่สามารถมองเห็นอนาคตที่ชัดเจนได้ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราทุกคนในช่วงเวลาที่ทำแบบสอบถามนั้นล้วนแล้วแต่ได้เผชิญสภาวะวิกฤตที่เราถูกบีบให้ต้องรับมือกับมันมาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนแล้ว เราตั้งสมมติฐานว่าเป็นช่วงเวลาที่นานพอที่เราจะเรียนรู้ผลกระทบ และซึมซับและวัดผลพฤติกรรมใหม่ที่เข้ามาในชีวิตเรา และพอจะเลือกได้แล้วว่าอะไรเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มันดีขึ้น ที่เราอยากจะตัดสินใจให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราต่อไปแม้จะจบวิกฤตครั้งนี้ไปแล้วก็ตาม ชุดคำถามทั้งหมดจึงค่อนข้างเน้นย้ำไปที่การเชิญชวนให้ผู้ร่วมทำวิจัยตอบคำถามโดยพิจารณาถึงการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นหลักว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาเลือกแล้วว่าจะทำต่อไป หรือเลิกทำเปรียบเทียบปริมาณระหว่างช่วงหลังจากคลาย Lock Down กับช่วงเวลาปกติก่อนเกิด COVID-19
การประมาณการของน้ำหนักในค่าบวกและลบของงานวิจัยชิ้นนี้น่าจะพอให้มุมมองที่สามารถตีความต่อได้ว่าส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างในระดับไหน อย่างไร และเอื้อให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าวิกฤตต่อธุรกิจของตนที่เกิดตามมาจากสภาวะเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในยุคใหม่จะต้องเตรียมรับมืออย่างไร
ทีมวิจัย Baramizi Lab หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานชุดข้อมูลวิจัยชุดนี้จะช่วยชี้แนะและให้ภาพความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น-กลางของผู้บริโภคชาวไทยและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในประเทศได้ชัดเจนขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบแผนธุรกิจและปรับตัวรับมือหรือคว้าโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างทันท่วงที และเราเชื่อเสมอว่าธุรกิจยุคใหม่ต้องใช้ข้อมูลทำงาน